พฤศจิกายน 24, 2024

“ศุภมาส” ประกาศยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะ AIเดินหน้าใช้กับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศผ่านโครงการ “AI University” สู่ “Education 6.0”ตั้งเป้าบัณฑิต ร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐาน AI หลังจบการศึกษาพร้อมนำร่องความร่วมมือมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน เปิดคอร์สสอนออนไลน์ AIตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน AI 3 หมื่นคนใน 3 ปี ผลักดันไทยผู้นำ AI อาเซียน

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวง อว.ตามนโยบาย “อว. For AI” โดยมี ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงาน มี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะทำงานปฏิรูประบบอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และ รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้รักษาการรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาพิเศษ หัวข้อ แนวทางการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) ณ ห้องประชุมสยาม ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท

ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวรายงานว่า การจัดการประชุมมอบนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน AI โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในการนำเทคโนโลยี AI ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปในทุกช่วงวัย เพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัยและรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

“สำหรับความร่วมมือในการนำ AI มาขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้าน AI ของสถาบันอุดมศึกษามี 3 ด้าน ได้แก่
1) AI Literacy ที่เป็นการปรับตัวให้รู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น Chula MOOC หรือ KMITL Masterclass
2) Al Competency ที่นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น โครงการ DeepGI: Real-Time AI-Assisted Solution for Gastrointestinal Tracts หรือ DMIND แอปพลิเคชันที่ช่วยคัดกรองภาวะซึมเศร้า และ
3) Al Ethics จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ที่สถาบันอุดมศึกษาได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักจริยธรรม” ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว

จากนั้น น.ส.ศุภมาส กล่าวเปิดการประชุมและมอบนโยบายการพัฒนากำลังด้าน AI ว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะ AI เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน AI มีแผนในการขับเคลื่อนผ่านสถาบันอุดมศึกษา โดยที่ประชุมอธิการบดี(ทปอ.) 4 แห่ง ได้แก่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว ผ่านโครงการ “AI University” ที่มีเป้าหมายให้บัณฑิต ร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐานด้าน AI หลังจบการศึกษา และร้อยละ 50 มีทักษะในการใช้ AI จากการลงมือปฏิบัติภายในปีที่ 2 ของการศึกษา นอกจากนี้ นักศึกษาทุกคนจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ AI และจริยธรรมในการใช้ AI โดยมีแผนดำเนินการเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งโครงการนำร่องในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม และร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการฝึกอบรม และเปิดคอร์สออนไลน์ Generative AI โดยตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้าน AI ให้ได้ 3 หมื่นคนภายใน 3 ปี

รมว.อว. กล่าวต่อว่า แผนยุทธศาสตร์นี้จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบาย “อว. for AI” ที่ได้มีการประกาศไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มุ่งเน้นการใช้ AI ในการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ การใช้ AI ในการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนไทย การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสนับสนุนนวัตกรรม AI เพื่อใช้งานจริง ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบาย “อว. for AI” ดังกล่าว ถือเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการสร้างระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยเพื่อก้าวสู่การเป็น Education 6.0 ที่เป็นการเรียนรู้แบบ Immersive Education เป็นการศึกษาแบบไร้รอยต่อระหว่าง Offline และ Online โดยนำเทคโนโลยี AI และ Metaverse มาช่วยในการเรียนการสอนและนำมหาวิทยาลัยของไทยเข้าสู่การเป็น AI University สำหรับการพัฒนาบุคลากรด้าน AI จะมีสำนักงานปลัดกระทรวง อว.เป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในการผลิตและพัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัยให้มีทักษะด้าน AI ที่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวันและเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ซึ่งกระทรวง อว. ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนอย่างจริงจัง

“สำหรับแผนยุทธศาสตร์นี้ไม่เพียงแค่มุ่งเน้นการสร้างความรู้และความชำนาญด้าน AI ให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี AI ในอนาคตแต่ยังเป็นการวางรากฐานให้ประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้าน AI ของภูมิภาคอาเซียน กระทรวง อว. มุ่งมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” น.ส.ศุภมาส กล่าว และว่า ที่สำคัญ อว. for AI จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้และยังสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน

ต่อมาผู้แทนที่ประชุมอธิการบดี 4 แห่ง ได้แสดงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนากำลังคนด้าน AI ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยได้มีการจัดการเรียนการสอนด้าน AI ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อธิการบดีเล่าให้ฟังว่า เด็กที่เรียนจบไปไม่พอเพียงกับความต้องการ มีบริษัทเอกชนมาแย่งตัวกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวง อว.ได้ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีนี้จะผลิตบุคลากรด้าน AI ให้ได้ 30,000 คนใน 3 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI (AI Professional) เป็นบุคลากร AI ที่เก่งมาก ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย
ระดับที่ 2 วิศวกร AI (AI Engineer) ที่เป็นทั้งผู้ใช้ AI และสร้าง AI
ระดับที่ 3 บุคลากรที่มีทักษะ AI เบื้องต้น (AI Beginners) คือเป็นเหมือนพวกเราคนทั่วไปที่สามารถใช้เป็นและเริ่มเรียนรู้ที่จะสร้าง AI ได้